วันอาทิตย์, ธันวาคม 15, 2024
ข่าวรอบโลก

ทำไมโรงเรียนชั้นนำในอังกฤษจึงเปิดวิทยาเขตในเอเชีย

  • แอนนาเบลล์ เหลียง 
  • บีบีซี นิวส์ 

18 เมษายน 2022

ลิน เรน และ ริชาร์ด คอว์
คำบรรยายภาพ, ครอบครัวคอว์ ส่งลูกชายเข้าเรียนที่วิทยาลัยมาร์ลบะระ วิทยาเขตในมาเลเซีย

เมื่อ 40 ปีก่อน ลิน คอว์ เดินทางหลายพันกิโลเมตรจากมาเลเซีย ไปเรียนต่อที่โรงเรียนชั้นนำในสหราชอาณาจักร 

เธอบอกว่า การทำเช่นนั้นในวัย 15 ปี ทำให้เธอได้รับประสบการณ์มีค่ามากมายในการใช้ชีวิตและเรียนรู้จากการต้องพึ่งพาตัวเอง 

ปัจจุบัน ลูกชายของนางคอว์ กำลังได้รับโอกาสเช่นเดียวกันนี้ แต่ไม่ต้องเดินทางไปไกลจากครอบครัวของพวกเขาในมาเลเซียแล้ว 

เธอเป็นหนึ่งในพ่อแม่ที่มีฐานะดีในเอเชีย จำนวนหลายคนและกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ส่งลูกของตัวเองเข้ามาเรียนโรงเรียนชั้นนำของอังกฤษ ที่มีวิทยาเขตอยู่ในทวีปนี้ 

โรงเรียนเหล่านี้ก่อตั้งขึ้นในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย มีหอพักอยู่ภายในโรงเรียนและส่วนใหญ่ให้บริการแก่ครอบครัวของชาวตะวันตก แต่โรงเรียนก็ยอมรับคนในประเทศที่มีกำลังจ่ายค่าเล่าเรียนที่สูงถึง 36,000 ปอนด์ ต่อปี (ประมาณ 1.58 ล้านบาท) เข้ามาเรียนด้วยเหมือนกัน

บริษัทที่ปรึกษาและการบัญชีระดับโลกอีวาย (EY) ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว ผู้คนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เงินจ่ายเงินไปกับการศึกษาภาคเอกชนราว 8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (2.7 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นจาก 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 2 ล้านล้านบาท) ในปีก่อนหน้า 

อีวาย คาดว่า การใช้จ่ายเพื่อการนี้ซึ่งซบเซามาตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโควิดเริ่มขึ้น จะกลับมาเพิ่มสูงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า 

ลุก พาอิส หัวหน้าฝ่ายหุ้นนอกตลาดประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของอีวาย กล่าวว่า “หลักสูตรของอังกฤษเป็นที่ยอมรับสูง โดยเฉพาะในประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับสหราชอาณาจักรอย่าง มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย” 

โรงเรียนชั้นนำแห่งหนึ่งอยู่ในเมืองมาร์ลบะระซึ่งเป็นโรงเรียนที่แคเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์และแจ็ก ไวต์ฮอลล์ นักแสดงตลก เคยเรียน

มาร์ลบะระ ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลวิลต์เชียร์ของอังกฤษ เปิดวิทยาเขตที่ต่างประเทศเพียงแห่งเดียวคือในเมืองอิสกันดาร์ ปูเตรี ของมาเลเซีย ในปี 2012

ที่นั่นมีสิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างรวมถึง ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ สนามกอล์ฟ และทะเลสาบสำหรับเล่นกีฬาทางน้ำ ซึ่งโรงเรียนอื่น ๆ ในประเทศไม่มี 

นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้านกีฬาที่วิทยาลัยมาร์ลบะระ ในมาเลเซีย
คำบรรยายภาพ, นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้านกีฬาที่วิทยาลัยมาร์ลบะระ ในมาเลเซีย

ครอบครัวคอว์ ระบุว่า วิทยาเขตในมาเลเซียของโรงเรียนมาร์ลบะระ ค่อนข้างใกล้กับกรุงกัวลาลัมเปอร์ บ้านของพวกเขา และนั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทางครอบครัวส่ง เรน ลูกชายวัย 16 ปี ไปเรียนที่นั่น 

ใช้เวลาขับรถเพียง 3 ชั่วโมงครึ่ง หรือนั่งเครื่องบิน 50 นาที จากเมืองหลวงของมาเลเซีย นั่นหมายความว่า เขากลับบ้านได้ไม่ยากในช่วงวันหยุด 

แต่การส่งเขาไปเรียนที่นี่มีค่าใช้จ่ายมหาศาล 

ทางครอบครัวต้องจ่ายเงิน 200,400 ริงกิต (ประมาณ 1.59 ล้านบาท) ต่อปี เพื่อให้เขาเป็นนักเรียนประจำที่นั่น เมื่อเทียบกับสถิติของทางการล่าสุดถือได้ว่าค่าเล่าเรียนของเขาสูงกว่าค่าจ้างเฉลี่ยต่อปีในมาเลเซียมากกว่า 5 เท่า 

แต่กระนั้น ที่วิทยาลัยมาร์ลบะระมีนักเรียนชาวมาเลเซียราว 1 ใน 4 

ราคาค่าเล่าเรียนที่สูงลิบในการส่งลูกชายเข้าโรงเรียนของอังกฤษถือว่าคุ้มค่าสำหรับนางคอว์ ซึ่งยังคงนึกถึงความทรงจำตอนที่เธอเคยเรียนที่เชอร์บอร์น เกิร์ลส์ (Sherborne Girls) โรงเรียนรัฐบาลชั้นนำของอังกฤษอีกแห่งในเมืองดอร์เซต 

“แม้โรงเรียนจะมีกฎที่เข้มงวดหลายอย่าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังรู้สึกถึงได้ว่ามีเสรีภาพ จากการรู้จักก้าวแรกของการเริ่มพึ่งพาตัวเอง” เธอกล่าว 

ขณะที่ข้ามช่องแคบไปอีกฝั่งหนึ่ง สิงคโปร์ ประเทศที่มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น วิทยาลัยดัลลิช (Dulwich College) มีสนามกีฬาหลายแห่ง มีสระว่ายน้ำ 3 แห่ง และมีศูนย์แสดงศิลปะที่มีโรงละคร 3 แห่ง 

โรงเรียนนี้มาจากทางใต้ของกรุงลอนดอน ศิษย์เก่าของโรงเรียนนี้รวมถึงเออร์เนสต์ แช็กเคิลตัน นักสำรวจแอนตาร์กติกา ผู้ล่วงลับไปแล้ว 

ทางโรงเรียนมีสาขานอกสหราชอาณาจักร 10 แห่งในเอเชีย โดยแห่งล่าสุดอยู่ในนครย่างกุ้ง เมืองที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา

สนามกีฬาที่วิทยาลัยดัลลิชในสิงคโปร์
คำบรรยายภาพ, วิทยาลัยดัลลิช ในสิงคโปร์

โรงเรียนอีกแห่งหนึ่งที่หมายตาจะไปเปิดวิทยาเขตในเอเชียคือ กอร์ดอนสตัน (Gordonstoun) โรงเรียนประจำของสกอตแลนด์ที่มีชื่อเสียงจากการที่มีสมาชิกราชวงศ์อังกฤษหลายพระองค์ทรงได้รับการศึกษาที่นี่ 

ทางโรงเรียนมีแผนที่จะเปิดโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกของตัวเองขึ้นในจีนในปีนี้ และตั้งเป้าที่จะขยายตัวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

เจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีที่สวรรคตไปแล้วของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่สองแห่งอังกฤษ และพระราชโอรส 3 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแอนดรูว์ และเจ้าชายเอ็ดเวิร์ด รวมถึงองค์ทายาท 2 คนของเจ้าหญิงแอนน์ พระราชธิดา ก็ทรงได้รับการศึกษาที่กอร์ดอนสตัน

เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ ทรงเคยแสดงความเห็นต่อนโยบายประหยัดค่าใช้จ่ายของทางโรงเรียนจนกลายเป็นเรื่องดัง พระองค์ทรงเรียกแนวทางนี้ว่า “โคลดิตซ์ อิน คิลต์ส” (Colditz in kilts) ซึ่งหมายถึงค่ายเชลยสงครามของเยอรมนีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 

“การที่เราได้ถวายการศึกษาสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ 3 รุ่น รวมถึงองค์รัชทายาท เป็นสิ่งที่น่าดึงดูดใจอีกอย่างสำหรับหลายครอบครัว ที่ต้องการให้ลูกของตัวเองได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด” ลิซา เคอร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนกอร์ดอนสตัน กล่าวกับบีบีซี 

นางเคอร์ กล่าวว่า “เรายินดีต้อนรับเด็ก ๆ จากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้ามาเรียนที่วิทยาเขตของเราในสกอตแลนด์ แต่ทางเลือกนี้ไม่ได้มี หรือ ไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกคน” 

แต่นักเรียนจากทั่วภูมิภาคนี้ก็ยังเข้ามาเรียนที่นี่จำนวนมาก 

คิมคง เฮง นักวิจัยอาวุโสรับเชิญที่ศูนย์พัฒนากัมพูชา (Cambodia Development Center) ยกตัวอย่าง พ่อแม่ที่มีฐานะดีในประเทศต่าง ๆ อย่างกัมพูชา ชอบส่งลูกไปเรียนที่โรงเรียนรัฐบาลชั้นนำของอังกฤษที่มีวิทยาเขตตั้งอยู่ในเอเชีย เพราะพวกเขารู้สึกมั่นใจว่า ลูกจะได้รับการสอนภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ และมีความรู้สาขาวิชาอื่น ๆ ในระดับสูง 

“กัมพูชาตามหลังหลายประเทศในภูมิภาคในแง่ของมาตรฐานการศึกษา การวิจัย และนวัตกรรม” นายเฮง กล่าวกับบีบีซี 

“กัมพูชาชื่นชมมาตรฐานของมาเลเซียหรือสิงคโปร์ และแน่นอน เป้าหมายคือมาตรฐานการศึกษาของสหรัฐฯ และยุโรป” 

อย่างไรก็ตาม นายเฮง เชื่อว่า การเข้าเรียนที่โรงเรียนชั้นนำของอังกฤษในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสประสบการณ์เหมือนกับการไปเรียนที่สถาบันที่เป็นต้นกำเนิดอันมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนานได้ 

“เราฝันที่จะได้ไปเยือนเมืองที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างกรุงลอนดอน และเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก [ที่นั่น] มาตรฐานการศึกษาก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ประสบการณ์ในการได้เรียนรู้วัฒนธรรมและภาษาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” เขากล่าว 

นายพาอิส กล่าวว่า การยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางทั่วโลก จะส่งผลดีต่อโรงเรียนเอกชนอังกฤษ

เขากล่าวอีกว่า “สิ่งดึงดูดใจหลายอย่างในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ส่งเสริมการขยายตัวของการศึกษาของโรงเรียนเอกชน มีตั้งแต่การที่คนมีฐานะร่ำรวยขึ้น กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวย และไม่ค่อยมีการศึกษาที่มีคุณภาพสูงมากพอ”

update @copy right ที่มา https://www.bbc.com/thai/i