วันจันทร์, กันยายน 9, 2024
ข่าวรอบโลก

โควิด : แม้ป่วยไม่รุนแรง แต่สมองหดตัวและสูญเสียเนื้อสมองด้านความทรงจำได้

  • รีเบคกา มอเรลล์
  • บรรณาธิการ, บีบีซี นิวส์

9 มีนาคม 2022

MRI scan

งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากสหราชอาณาจักร พบหลักฐานบ่งชี้ว่า คนไข้โควิด-19 แม้จะมีอาการไม่รุนแรง แต่ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมองได้

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดใช้การตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging หรือ MRI) เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของสมองในช่วงก่อนและหลังจากติดโควิด

ผลปรากฏว่า แม้จะเป็นการติดเชื้อที่มีอาการป่วยไม่รุนแรง แต่พบว่าสมองมีการหดตัวลงเล็กน้อย และมีการสูญเสียเนื้อสมองสีเทา (grey matter) ซึ่งเกี่ยวข้องกับประสาทรับกลิ่นและความทรงจำ

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะคงอยู่ถาวรหรือไม่ แต่เน้นย้ำว่าสมองคนเราสามารถเยียวยาตัวเองได้

ศาสตราจารย์ เกวแนล ดูออด หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด ระบุว่า การศึกษาครั้งนี้มุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้ติดเชื้อโรคโควิดที่มีอาการไม่รุนแรง และผลที่ออกมาก็สร้างความประหลาดใจไม่น้อย

งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ใช้ข้อมูลจากโครงการ UK Biobank ที่เก็บข้อมูลด้านสุขภาพของประชากร 500,000 คน เป็นเวลา 15 ปี และมีฐานข้อมูลการสแกนสมองในช่วงก่อนการระบาดใหญ่ของโควิด-19

จากนั้นทีมนักวิทยาศาสตร์ได้สแกนสมองอาสาสมัคร 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นผู้ที่ติดโควิด 401 คน ซึ่ง 96% เป็นผู้มีอาการไม่รุนแรง การสแกนสมองมีขึ้น 2 ครั้ง โดยเว้นระยะห่างกัน 4.5 เดือน ส่วนกลุ่มที่ 2 จำนวน 384 คนเป็นผู้ที่ไม่ติดโควิด

ผลการศึกษาปรากฏว่า:

  • ขนาดสมองโดยรวมของผู้ที่ติดโควิดหดตัวลง 0.2 – 2%
  • มีการสูญเสียเนื้อสมองสีเทา บริเวณที่ควบคุมประสาทรับกลิ่นและบริเวณที่เกี่ยวกับความทรงจำ
  • ผู้ที่เพิ่งหายจากโควิดมีความสามารถลดลงในการทำบททดสอบทางความคิดที่ซับซ้อน

อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความเปลี่ยนแปลงทางสมองที่เกิดขึ้นจะสามารถฟื้นฟูให้กลับเป็นดังเดิมได้หรือไม่ หรือจะส่งผลเสียอย่างถาวรต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตหรือเปล่า

แต่ศาสตราจารย์ ดูออด ชี้ว่า สมองมีความสามารถในการเยียวยาตัวเอง และมีโอกาสมากที่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเบาบางลงเมื่อเวลาผ่านไปhttps://www.bbc.com/ws/av-embeds/cps/thai/international-60659889/p0b0n5f4/thคำบรรยายวิดีโอ,

“ฉันสูญเสียความทรงจำเพราะโควิด”

ในขณะที่พบว่า ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อสมองสีเทาที่ควบคุมประสาทรับกลิ่น แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเชื้อไวรัสโคโรนาได้เข้าไปทำลายสมองส่วนนี้โดยตรง หรือเป็นเพราะเซลล์ส่วนนี้ตายลงจากการไม่ได้ใช้งาน หลังจากผู้ป่วยโควิดสูญเสียความสามารถในการรับกลิ่น

นอกจากนี้ ก็ยังไม่แน่ชัดว่าเชื้อโรคโควิดทุกสายพันธุ์จะสร้างความเสียหายแบบเดียวกันหรือไม่ เพราะงานวิจัยชิ้นนี้ทำขึ้นในช่วงที่สหราชอาณาจักรมีการระบาดของโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์อัลฟา ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการสูญเสียการรับรสและกลิ่น

ศาสตราจารย์ นาโอมิ อัลเลน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์โครงการ UK Biobank กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยเปิดไปสู่คำถามต่าง ๆ ที่นักวิจัยคนอื่นสามารถศึกษาต่อยอดได้เกี่ยวกับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนาที่มีต่อการทำงานของสมอง